คำนำ
(ของผู้ประพันธ์)
เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรก
เมื่อการพิมพ์ผู้ชนะสิบทิศเกือบเป็นรูปสำเร็จ คือขณะที่นายช่างทำปกนำเอาขนาดเล่มมาส่งให้ดูนั้น ความใหญ่ของหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าเกิดพิศวงในสิ่งที่หาควรพิศวงไม่ เพราะหนังสือเล่มที่อยู่ต่อหน้านี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของตัวเองแท้ๆ แต่ถึงเช่นนั้น ในฐานะที่ข้าพเจ้ารู้จักตัวเองของข้าพเจ้าดี จึงอดพิศวงไม่ได้ว่า ทำไมหนังสือขนาดเท่านี้จึงเกิดขึ้นได้ โดยข้าพเจ้าเป็นผู้เขียน
และแล้วอารมณ์ของข้าพเจ้าก็คิดกลับไปถึงวันหนึ่งในราวเดือนตุลาคม 2474 ซึ่งในวันนั้นจำได้ว่า ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดและลำบากยากใจเสียจริงๆ ที่เพื่อนสองสามคนซึ่งบรรลุชื่อเสียงอันดีในเชิงประพันธ์แล้ว และมีความรักใคร่ห่วงใยในตัวข้าพเจ้ามาก ได้ช่วยกันแสดงความเห็นว่าข้าพเจ้าควรเลิกเสียหนังสืออย่างจับจดเป็นการสนุกเสียที แล้วลองหันมาพากเพียรเขียนให้เป็นชิ้นเป็นอันกับเขาบ้าง และมิตรผู้มีอุปการคุณเหล่านั้นเชื่อว่าข้าพเจ้าจะทำได้ ข้าพเจ้าก็รับปากทั้งที่ไม่เชื่อตัวเอง หากโดยอาศัยความเชื่อของผู้อื่น ในสมัยนั้นเรื่องเกร็ดกิ่งก้านแขนงพงศาวดาร กำลังตื่นตัวอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน และนักเขียนเรื่องชนิดนี้ในครั้งนั้นดูเหมือนจะแข่งขันกันในเชิงว่าใครจะเขียนได้ถูกถ้วนตามพงศาวดารยิ่งกว่ากัน จนกระทั่งบางท่านสามารถเขียนขึ้นได้อย่างเดียวกับหนังสือพงศาวดารที่เคยตีพิมพ์มาแล้วก็มี
"ศรีบูรพา" แนะให้ข้าพเจ้าโจนเข้าไปในชนิดของเรื่องที่ผู้อ่านกำลังต้องการ แต่ให้สติว่า ควรถือเอาการบำเรอผู้อ่านด้วยความสนุกและให้งดงามด้วยศิลปะการประพันธ์ ยิ่งกว่าการกอดพงศาวดารเดิม ๆ ให้แน่นไว้ ข้าพเจ้าเชื่อคติของนักเขียนมีชื่อผู้นี้ เชื่อจนความเห็นของ "ศรีบูรพา" ที่ว่าควรให้ชื่อ "ยาขอบ" ที่ใช้เขียนแต่เรื่องตลกขบขันนี้แหละมาเขียนเรื่อง (ปลอม) พงศาวดาร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นชื่อ "ยาขอบ" แล้วจะได้สงสัยว่า นี่แกจะพาเรื่องรบๆ รักๆ ไปได้ตลอดลอดฝั่งอย่างไรกัน ข้าพเจ้าเริ่มเรื่อง "ยอดขุนพล" โดยเคร่งในคติที่ว่าจะบำเรอผู้อ่านให้สนุกยิ่งกว่ายอดพงศาวดารเดิม ข้าพเจ้าเขียน "ยอดขุนพล" เกือบ8,000 บรรทัด โดยอาศัยความสำคัญของพงศาวดารเดิม 8 บรรทัด จึงเป็นสาเหตุให้ท่านนักเขียนเรื่องทำนองพงศาวดารซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าหน้าเก่า เพราะเขียนมาหลายเรื่องต่อหลายเรื่องผู้หนึ่ง ประกาศแก่ท่านผู้อ่านในหนังสือพิมพ์ของท่านว่า ไม่ควรไปหลงอ่านเรื่องที่นักเขียนหน้าใหม่นั้น เขียนโดยไม่มีหลักอ้างอิงให้ความรู้ในทางพงศาวดารอย่างที่ท่านเขียน
ข้าพเจ้าอ่านคำประกาศด้วยใจอันผ่องแผ้ว เป็นความจริงดังขึ้น ข้าพเจ้าไม่เคยหวังจะให้เรื่องของข้าพเจ้าให้ความรู้ในเชิงพงศาวดารแก่ท่านผู้อ่าน เพราะท่านผู้อ่านคนใดอยากได้ความรู้ทางพงศาวดาร ก็ย่อมจะศึกษาได้จากพงศาวดารจริงๆ อยู่แล้ว จะต้องมาเปล่าเปลืองเวลากับเรื่องที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วันละหน้า ๆ ทำไมกัน อีกประการหนึ่ง พงศาวดารเป็นวิชาที่ไม่เคยมีใครเรียนให้รู้แจ้งเห็นจริง จนกระทั่งจะแต่งหนังสือเทียบเคียงให้ถูกต้องได้ในชั่วเวลานิดหน่อย
ดังนี้ ในที่นี้ และหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อท่านผู้อ่านด้วยความคารวะว่า ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยู่ในผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ฝัน ผู้ชนะสิทิศถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฟังชื่อคนและถิ่นฐานเป็นพม่า แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนเป็นคนไทยซึ่งอยู่ในเมืองไทยมา 27 ปี โดยมีอายุ 27 ปี เพราะฉะนั้น ตามท้องเรื่องของผู้ชนะสิบทิศที่กล่าวถึงเมืองแปร ว่ามีชัยภูมิวิเศษสำหรับรับข้าศึกก็ดี ตองอูนครอันรุ่งเรือง และมีพลเมืองซึ่งมีความหยิ่งในเลือดของตนราวกับชาวสปาตันก็ดี ทั้งนี้ขอท่านที่ได้รู้จักแปรแลตองอู หรือเมืองใดๆ ในประเทศพม่าแล้ว ครั้นมาพบบรรยายลักษณะของถิ่นฐานนครนั้นๆ ในหนังสือเรื่องนี้เข้า อย่าเพิ่งอื้ออึงหาว่าข้าพเจ้าเขียนผิดไปก่อน เพราะแปร ตองอู หงสาวดี ฯลฯ ตามความรู้ของท่าน และเป็นความจริงบนพื้นโลกนั้น อาจเป็นคนละแห่งกับ แปร ตองอู หงสาวดี ฯลฯ ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือและบนสมองของข้าพเจ้าก็ได้ เมื่อท่านปล่อยความรู้สึกลงมาให้ผู้ชนะสิบทิศ ท่านได้เข้ามาอยู่ในเรื่องและโลกสมมติของข้าพเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นท่านควรลืมโลกจริงๆ ของท่านเสีย และอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้มีเกียรติยศพาท่านไปสนุกในดินแดนอันเป็นของข้าพเจ้าเอง
เมื่อเตรียมตัวจะปลอมพงศาวดารสักเรื่องหนึ่งนั้น ข้าพเจ้าค้นพบประวัติมหาราชของพม่าองค์หนึ่ง ชื่อ จะเด็ด ซึ่งกำเนิดแต่ตระกูลต่ำต้อย แต่โดยเหตุที่แม่เผอิญได้เป็นพระนมลูกหลวง จะเด็ดจึงได้คลุกคลีอยู่ในที่สูง ถึงกับได้เป็นเจ้าของดวงใจพระพี่นางสาวของเจ้านายตน ตามพงศาวดารปรากฏว่า จะเด็ดเป็นแม่ทัพที่ทำการได้ประโยชน์แก่เจ้านายของตนมาก เป็นเทพบุตรแห่งการสงครามของสุวรรณภูมิในสมัยนั้น และเป็นผู้มีเดชานุภาพทางบกมากที่สุดในสมัยที่คนผู้นี้ได้เสวยราชย์ประกาศนามเป็นพระเจ้าบุเรงนอง
ในการเขียนนี้ ข้าพเจ้าไม่พยายามกอดพงศาวดารก็จริง แต่ข้าพเจ้าพยายามอย่างมากที่สุดที่จะกอดนิสัยใจคอของบุเรงนอง ซึ่งในพงศาวดารฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปฯ กล่าวว่า บุเรงนองมีอำนาจในการบงการราชการแทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินแทบจะสิทธิ์ขาดทุกประการ จึ่งยากที่จะหาคนในสมัยนั้นแลในชาตินั้นกตัญญูต่อเจ้านายของตนโดยสุจริตภาพเช่นนั้น หลักแหลมฉลาดในที่ชุมนุมราชการ ทั้งห้าวหาญเข้มแข็งในสนามยุทธ ยอมเสียชีวิตดีกว่าจะยอมให้คนเห็นว่าขลาดคร้านปฏิเสธไม่ยอมรับมงกุฎเมื่อมีผู้คิดการจะนำมาถวายภายหลังที่เจ้านายของตัวกลายเป็นกษัตริย์ขี้เมาอย่างเหลวแหลก และในประวัติศาสตร์สากลของหลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงลักษณะในการสงครามของพระเจ้าบุเรงนองว่า เป็นคนรักษาคำพูดอย่างมั่นคงที่สุด ใช้คำพูดหลอกคนด้วยความจริง เป็นคนเด็ดขาดที่สุด เมื่อกำหนดโครงการแน่นอนแล้วไม่ยอมฟังคำทักท้วงของใครมีความวินิจฉัยถูกต้องและเที่ยงตรง เมื่อข้าศึกยอมแพ้แล้วบำเพ็ญตัวอย่างลูกผู้ชาย อารีต่อผู้แพ้จนถึงที่สุด และมีโอรส 33 ธิดา35 ทั้งที่ต้องวิ่งทำสงครามอยู่เกือบตลอดชีวิต ด้วยชีวิตและอัธยาศัยอันประหลาดของท่านผู้นี้ จึ่งในชั้นแรกที่ข้าพเจ้าให้เป็นตัวพระเอกในเรื่องยอดขุนพลค้างไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นจะเขียนเรื่องใหม่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นใครจะเข้าลักษณะวีระบุรุษของเรื่องเริงรมย์ยิ่งไปกว่าเจ้าของนามบุเรงนอง จึ่งเชิญชื่อมาเป็นตัวชูเรื่องในผู้ชนะสิบทิศนี้อีก และข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้อย่างไม่ห่วงพงศาวดารก็จริง แต่ห่วงอัธยาศัยใจคอของบุเรงนองมาก จึ่งพยายามเขียนอย่างที่จะรักษาจิตใจของบุเรงนองเดิมให้คงอยู่ และแทรกบทรักลงไปให้ควรแก่นิยายพิศวาสไว้ แต่อย่างไรก็ดี การแทรกบทรักลงไปในอัธยาศัยของวีระบุรุษผู้นี้ ถึงแม้เจ้าตัวจะได้รู้โดยญาณวิถีใดก็ตาม บุเรงนองก็คงจะอภัยแก่ข้าพเจ้าบ้างที่ได้เดาเป็นเช่นนั้น เพราะการมีโอรสธิดารวม 68 องค์นั้น ก็เปิดช่องให้เดาอยู่ว่ามหาราชองค์นี้คงมีบทรักดีพอใช้ และบุเรงนองในความฝันของข้าพเจ้าถูกกุมตัวอยู่แต่ในบทรักที่ไม่มูมมาม เพื่อจะได้เป็นที่น่าเอ็นดูแม้แต่ในพวกคุณผู้หญิง ซึ่งตามธรรมดาย่อมไม่ค่อยแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ชายที่รักผู้หญิงเกินกว่าหนึ่งคน
เรื่องผู้ชนะสิบทิศ เริ่มลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และจบภาคหนึ่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2476 ข้าพเจ้าเคยตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสที่เรื่องของตัวจะเป็นเล่มได้แล้ว ก็จะแก้ไขตอนที่ยังมีบกพร่อง เพราะเขียนลงรายวันอย่างรีบร้อนวันต่อวันนั้นเสีย แต่ครั้นถึงเวลาเอาจริงจังเข้า ข้าพเจ้าก็ไม่มีโอกาสจะแก้ไขให้สมกับที่ตั้งใจเลย จึ่งเป็นอันว่าในการพิมพ์ครั้งนี้ที่ใดขรุขระอยู่แต่เดิม ความจำเป็นก็ช่วยให้ข้าพเจ้าได้รักษาความขรุขระไว้โดยครบครันอย่างเดิม ยิ่งกว่านั้นกลับตรวจทานผิดจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์แล้วจังๆ ก็มีขึ้นอีก เช่นจำนวนทหารซึ่งในที่หนึ่งระบุไว้จำนวนหนึ่ง แต่อีกที่หนึ่งระบุไว้อีกจำนวนหนึ่งเป็นต้น จึ่งเป็นการสำคัญยิ่งสำหรับท่านที่จะเก็บหนังสือไว้อ่านหลายๆ ปี ควรจะแก้คำผิดซึ่งได้พิมพ์สอดไว้ในเล่มหนังสือนี้เสียให้ถูกต้องก่อนดำเนินการอ่าน
สำหรับท่านที่เดือดดาลอยู่บ้างในเรื่องการคอยหนังสือเล่มนี้นั้น หวังว่าเมื่อท่านเห็นรูปเล่มหนังสือเล่มนี้ถนัดตา อันอาจเป็นเหตุให้ความแค้นลดลงไปบ้างแล้ว ท่านก็คงจะคิดถึงการให้อภัยผู้พิมพ์ขึ้นมาได้ และยิ่งท่านพิเคราะห์ให้สุขุมยิ่งขึ้นแล้วก็ย่อมจะทราบว่า ความหนาของเนื้อหน้าทวีขึ้นอีกร้อยกว่าหน้านี่เองเป็นต้นเหตุของการออกล่ากว่ากำหนด ซึ่งเนื้อหนาขึ้นผู้พิมพ์ก็ไม่ได้ถือเป็นเครื่องยินดีสำหรับจะได้ถ่วงให้ท่านคอยเลย ข้าพเจ้าถือว่า ท่านที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ได้มีอารีจิตต่อข้าพเจ้า จึ่งขอแสดงความขอบคุณโดยจริงใจไว้ในที่นี้ด้วย
"ยาขอบ" พระนคร 12 กรกฎาคม 2477
คำนำ
(ของผู้ประพันธ์)
ในคราวตีพิมพ์ครั้งที่สอง
นับจากวันที่หนังสือเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ต้น ๆ ปี พ.ศ.2477 มาถึงวันนี้ปลายปี 2481 ก็เกือบ 5 ปีเต็ม ในคราวพิมพ์ใหม่นี้ ข้าพเจ้าหาหนังือของตนเองเขียนและพิมพ์ไว้เมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อมาเป็นต้นฉบับพิมพ์ใหม่ได้ลำบากยากเต็มที ความยากลำบากนี้ยิ่งมีมากเท่าใด ข้าพเจ้าก็ยิ่งขอบคุณมหาชนคนอ่าน ซึ่งได้แสดงอารีจิตต่อข้าพเจ้ายิ่งขึ้นเท่านั้นเหมือนกัน
เมื่อได้พิมพ์ยอดขุนพลและผู้ชนะสิบทิศภาคหนึ่งออกจำหน่ายไปแล้ว ข้าพเจ้าได้กำหนดพิมพ์ภาคสองต่อเนื่องกันไป แต่หนังสือภาคสองยังมิได้พิมพ์จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งก็เนิ่นนานมาหลายปีเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อภาคหนึ่งตอน 1 ได้ออกมาสู่ตลาดแล้ว เล่มต่อ ๆ ไปจะตามกันมาทุกวันอังคาร ก็คงถึงภาคสองที่ตั้งท่าว่าจะพิมพ์ไว้โดยแน่นอนในเวลาข้างหน้าที่ไม่นานนัก เพราะการออกต่อเนื่องกันสัปดาห์ละเล่มนี้จะจบภาคหนึ่งก็อยู่ในราว 12 สัปดาห์เท่านั้นเอง
ผู้ชนะสิบทิศ เริ่มเสนอตัวของมันเองตั้งแต่ปี 2475 จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่อาจลงเอยได้ การเขียนเรื่องยาวนาน ๆ เช่นนี้เท่าที่ความจริงประสบแก่ข้าพเจ้านั้น รู้สึกว่าท่านผู้อ่านถือสิทธิในอันที่จะให้เรื่องดำเนินไปอย่างไรเท่า ๆ กับผู้แต่งเหมือนกัน เป็นต้น พอข้าพเจ้าผู้แต่งวาดโฉมของเรื่องเบนไปในทางจะให้ตัวนางในเรื่องตัวหนึ่งไปรักใคร่พอใจกับตัวอื่น ซึ่งมิใช่ตัวเอก ผู้อ่านก็ขู่มา ที่ใจเย็นหน่อยก็ว่า ถ้าเขียนให้เป็นไปอย่างนั้นจะไม่อ่าน ที่ใจร้อนก็ว่าขืนแต่งยังงั้นจะด่า ข้าพเจ้าก็ได้แต่คอยแต่งตาม จึ่งเรื่องของผู้ชนะสิบทิศความสนุกหรือไม่สนุกดูเหมือนผู้แต่งจะเป็นเพียงส่วนประกอบเสียแล้ว ส่วนจริง ๆ อยู่ที่ผูอ่านท่านช่วยกันออกความคิดความเห็นประดิษฐ์ประดับสู่กันอ่านเอง
พงศาวดารปลอมเรื่องนี้ ฟักตัวขึ้นโดยเหตุและลักษณะใด ได้ชี้แจงไว้ในคำนำครั้งแรกแล้ว แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่จะต้องชี้แจงซ้ำกับครั้งแรก คือที่ว่า "ข้าพเจ้าเคยตั้งใจไว้ว่า ถ้ามีโอกาสที่เรื่องของตัวจะเป็นเล่มได้แล้ว ก้จะแก้ไขตอนที่ยังมีบกพร่อง เพราะเขียนลงรายวันอย่างรีบร้อนวันต่อวันนั้นเสีย แต่ครั้นถึงเวลาเอาจริงเอาจังเข้า ข้าพเจ้าก็ไม่มีโอกาสจะแก้ไขให้สมกับที่ตั้งใจเลย จึ่งเป็นอันว่าในการพิมพ์ครั้งนี้ที่ใดขรุขระอยู่แต่เดิม ความจำเป็นก็ช่วยให้ข้าพเจ้าได้รักษาความขรุขระไว้โดยครบครันอย่างเดิม" นั้น ยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับการพิมพ์ครั้งนี้ และอาจใช้ได้จนแม้กับในครั้งที่ถ้าเผอิญจะมีโอกาสพิมพ์ต่อไป
เหม เวชกร เป็นมิตรมีน้ำใจแก่ข้าพเจ้ามาก ที่ได้รับว่าจะช่วยให้ผู้ชนะสิบทิศเป็นต้นไม้ที่งามขึ้นทั้งดอกทั้งใบ ซึ่งจะต้องจารึกความขอบใจเหมไว้ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำถึงความขอบคุณผู้อ่าน และไม่ขอบคุณแต่เพียงความเมตตาที่เคยช่วยให้หนังสือของข้าพเจ้าไม่เหลือติดตลาดอย่างเดียว ยังขอบคุณไปถึงการที่ท่านนั้น ๆ มีกับ "ยาขอบ" อยู่ไม่ได้ ในเมื่อหนังสือที่ประกาศว่าจะออกแล้วก็ไม่ได้ออกมาถึงสามปีดังนี้
"ยาขอบ"
พระนคร 7 มีนาคม 2481
คำนำ
(ของผู้ประพันธ์)
ผู้ชนะสิบทิศ ภาคสาม
การพิมพ์เรื่อง "ผู้ชนะสิบทิศ" จะนับว่าสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าขาดเสียซึ่ง "คำนำ" อัน "ยาขอบ" ได้แถลงความในใจของเขาไว้เป็นแก่นสาร และได้ระบุนามมิตรผู้อุปการะของเขาไว้ ซึ่งเราเห็นเป็นการสมควรที่จะนำมาเสนอรวมไว้ให้ครบครัน
เรื่องผู้ชนะสิบทิศนี้ มิใช่เป็นหนังสือเล่มเดียวจบเรื่อง พิมพ์เป็นภาคละเล่มรวมด้วยกันสามภาค และทั้งที่แต่ละภาคได้เรียงอัดบรรทัดและได้ขยายหน้าให้กว้างกว่าธรรมดาอย่างเอาเปรียบโรงพิมพ์จนน่าเกลียดแล้ว หนังสือภาคหนึ่ง ๆ ก็ยังหนีไม่พ้นความเป็นเล่มใหญ่เทอะทะได้ หากจะกำหนดเป็นคำโดยประมาณว่าภาคสามที่กำลังพิมพ์เสนออยู่นี้ เรื่องราวอย่างต่ำก็คงไม่หย่อนกว่าภาคสองแล้ว เรื่องผู้ชนะสิบทิศทั้งสามภาค ก็จะเป็นหนังสือที่ประมาณได้ว่าจุคำ 1,554,400 คำเป็นอย่างต่ำ อนึ่ง การพิมพ์เสนอระหว่างภาคกับภาคนั้น ก็อยู่ในระยะเวลาห่างกัน ข้าพเจ้าจึ่งเชื่อว่า แม้จะได้เขียนคำนำของเรื่องนี้ไว้ในภาคหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ถ้าแถลงชี้แจงสิ่งใดเพิ่มเติมอีกในลักษณะคำนำของภาคนี้ ก็คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้ทำอะไรรุ่มร่ามไว้
ภาคนี้เป็นภาคจบของเรื่องนี้ ถ้าจะสำคัญราคาชีวิตของคนเล็กน้อยอย่างข้าพเจ้าเช่นกับวัวควาย ข้าพเจ้าก็ได้ลากคันไถผ่านเนื้อนาอันใช้หว่านความหฤหรรษ์บันเทิงบำเรอท่านไปจนสุดหูสุดตา อย่างน่าจะเรียกว่าเกินกำลังวังชาของวัวตัวหนึ่งทีเดียว ในระยะเวลาที่ทำงานในเวลาไม่ใช่น้อย ๆ นี้ ควรมรู้สึกนึกคิด เป็นต้นหวานชื่นใจนี้ยามได้รับหญ้าน้ำจากท่านเกินกำลังงาน หรือความเสียใจที่บางคราวตัวเองไปมัวและเล็มหญ้าใหม่ใบเขียว จนท่านต้องเตือนมาจากหางไถว่างานช้า เหล่านี้มีอยู่หลายประการ ภาคนี้เป็นภาคจบของงานชิ้นนี้ ข้าพเจ้าขอโอกาสกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดจากชีวิตของข้าพเจ้าในส่วนเฉพาะที่เรื่องผู้ชนะสิบทิศเข้ามาเกี่ยวข้องบันดาลให้เป็นไปตามสมควร เพราะหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศนี้ ชั่วหรือดีก็ตาม แต่จะพ้นไปเสียจากความเป็นสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้ในชีวิตของข้าพเจ้านั้นไม่ได้
ความอิจฉา ถ้าจะแปลว่าอยากให้ตัวดีเหมือนคนอื่นอย่างเดียว ก็เป็นสมบัติอันทรงคุณที่มนุษย์ทุกคนควรรับเอา ข้าพเจ้าอยากให้ตัวดีเหมือนคนดีอื่น อยากตายไปแล้วไม่รู้จักผุดจักเกิดเป็นผีมิได้เกิดนั้น ว่าหนังสือตัวที่เขียนไว้บนโลกมนุษย์มิได้ตายลับดับสูญมาตามตัว ข้าพเจ้าอยากให้ผู้ชนะสิบทิศของตัวไม่มีวันตาย แต่เมื่อมองไปที่วงการหนังสือ เห็นงานของท่านนักประพันธ์อื่น ๆ ข้าพเจ้าก็ต้องเตือนตัวเองว่าสะกดความอยากข้อนี้ไว้เสียเถิด เมื่อผู้อ่านรู้สึกว่าจะอ่านผู้ชนะสิบทิศทำไม เมื่อมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ดีกว่าอยู่แล้ว วันใดวันนั้นความนิยมในรสบันเทิงของเรื่องผู้ชนะสิบทิศก็จะดับสูญเช่นเดียวกับชีวิตของเจ้าของเรื่อง วันตายของผู้ชนะสิบทิศในด้านความเป็นหนังสือน่าอ่านในเรื่องตายนั้นแน่ไม่ต้องกล่าว เพราะน่ากลัวจะตายไปก่อนตัวข้าพเจ้าเสียอีก ข้ะเจ้าอายกให้คุณค่าของเรื่องผู้ชนะสิบทิศไม่ตาย หากข้าพเจ้ามิได้หวัง
แต่ในด้าน หนังสือผู้ชนะสิบทิศ เล่มใหญ่ ๆ จะเป็นวัตถุหรือเป็น สิ่งหนึ่ง ข้าพำเจ้าหวังว่าถึงตาย ก็ตายช้าตายยากเต็มทีและอาจตายทีหลังตัวข้าพเจ้านับด้วยจำนวนร้อยปีเป็นอย่างน้อย เพราะความเป็นน้ำหมึกประทับไว้บนกระดาษ ก่อให้เป็นเรื่องราว ลำดับด้วยถ้อยคำของภาษาคนภาษาหนึ่ง กว่าล้านห้แสนคำ ทั้งคำกว่าล้านห้าแสที่รวมเข้าเป็นเล่มหนังสือนี้ มิได้พิมพ์ขึ้นเพียงเล่มเดียว
หนังสือที่นับเนื่องเข้าในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เท่าที่ได้พิมพ์ขึ้นแล้ว เฉพาะตอนยอดขุนพล 3,000 เล่ม เฉพาะภาคหนึ่ง ครั้ง พ.ศ.2477 พิมพ์ 2,500 เล่ม มาคราวพิมพ์ปีนี้ไม่นับเล่มปลีกเล็ก ๆ ที่เรียกว่าตอน นับแต่ที่รวมเข้าหลาย ๆ ตอนเป็นเล่มใหญ่แล้วเรียกว่าเป็นภาค ก็พิมพ์ภาคละ 5,500 เล่ม รวมสามภาคเป็นหนังสือพิมพ์คราวนี้ 16,500 เล่ม เรื่องผู้ชนะสิบทิศจึ่งมีรูปร่างเป็นหนังสือ ชนิดอยู่ข้างจะถาวรรวมทังหมด 22,000 เล่มด้วยกัน
ก็แหละภาษาไทยของเราอยู่ในวงจำกัด หนังสือที่เป็นภาษาไทยไม่มีโอกาสกระจัดกระจายออกไปจากที่แคบ ๆ ของวงการหนังสือเมืองไทยได้โดยสะดวก จึงจะอีกนานนัก ที่หนังสือ ๒๒,๐๐๐ เล่มนี้ จะลับสูญไปจากที่แคบของวงการหนังสือเมืองไทย ถ้าข้าพเจ้าได้บังอาจหวังว่า ผู้ชนะสิบทิศจะตายทีหลังตัวตนข้าพเจ้า ก็ด้วยหวังในฐานสิ่งนี้เป็นเพียงวัตถุเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ผู้ชนะสิบทิศที่ผ่านตาผู้พบเห็นในด้านเป็นวัตถุนั้น เรื่องราวล้านห้าแสนกว่าคำทำให้เป็นหนังสือเล่มใหญ่ ย่อมเป็นที่แปลกตาเมื่อปะปนอยู่ในหมู่วัตถุชนิดเดียวกัน ซึ่งครานั้นอาจมีบางท่านระลึกถึงชีวิตของคนเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่ง ผู้ทำขึ้นไว้ซึ่งวัตถุอันนั้นบ้าง อย่างไรเสียหนังสือผู้ชนะสิบทิศในฐานเป็ฯวัตถุเตือยความระลึก ย่อมจะเป็นเครื่องช่วยสัมพันธ์ให้เกิดคนระลึกถึงข้าพเจ้าบ้าง ทั้งที่ตัวตนของข้าพเจ้าไม่มีจะสนองความระลึกนึกถึงของท่านนั้น ๆ แล้ว
ในเหลี่ยมดี อาจมีบางท่านที่มีใจฝักใฝ่ในการหนังสือ เมื่อเห็นหนังสือเล่มใหญ่ ๆ ก็จะเกิดเมตตาลดเกียรติและสละเวลามาสนใจในเรื่องราวของคนเล็กผู้สร้างหนังสือใหญ่เล่มนั้น ท่านอาจวิจารณ์งานของข้าพเจ้าไปตามหลักการประพันธ์ พร้อมกันนั้นก็ขุดค้นชีวิตของข้าพเจ้าทุกด้านทุกมุมขึ้นมาเล่า ซึ่งในที่สุดก็จะประหนึ่งว่า ท่านรู้จักข้าพเจ้าได้ละเอียดลออดีกว่าพ่อของข้าพเจ้าเองไปเสียอีก
ขอเสียที ถ้าเผอิญท่านผู้ใดจะเกิดเมตตาจิตด้วยลักษณะนี้ พอใจอ่านเชิญอ่าน พอใจลืมก็ลืม โปรดทิ้งวัตถุอันนี้ไว้โดยปราศจากการวิจารณ์ ไม่ว่าขณะข้าพเจ้าจะมีตัวตนอยู่หรือไม่ก็ดี
เพราะว่า ในทางประสงค์จะช่วยเชิดชูเชิงประพันธ์ของข้าพเจ้า หนังสือเรื่องนี้ก็หาค่าควรแก่การที่ท่านผู้ใดจะสละเวลามาเชิดชูไม่ ค่าที่มิได้เป็นเรื่องที่เกิดแต่แรงและสมองของข้าพเจ้าโดยบริสุมทธิ์ซึ่งสมควรจะยกย่องกันในเชิงประพันธ์ ความจริงผู้ชนะสิบทิศเป็นเรื่องที่ลอกเลียนเอาหลาย ๆ สิบเรื่องเข้ามา แต่ในทางจะทับถมเหยียบย่ำ ท่านก็ไม่ต้องไปค้นว่าตอนไหนลอกจากเรื่องใดบ้างมาพิสูจน์เพื่อเหยียบย่ำดอก ข้าพเจ้าจะรับอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ว่าลอกเขาตะลุยมา นับจากโจโฉแตกทัพเรือสำหรับเด็กเรียน ไปจนถึงหนังสือที่ไม่จำเป็นไม่มีใครอ่าน เช่นไตรภูมิพระร่วง หรือถ้าท่านทหการเทียบค้นโดยสะเพร่า เช่นตอนจะเด็ดได้ตัวกุสุมาคืนมาในภาคหนึ่งนั้น คำโอ้โลมที่ฟื้นความหลังอันชื่นฉ่ำระคนเศร้าของตอนนั้น จะเป็นฉากกำบังใจให้ท่านลืมนึกถึงอิเหนาตอนสึกชีให้ประสันตาฉายหนังให้อุณากรรณดู ซึ่งข้าพเจ้าลอกมาเสีย เพราะฉะนั้น จึ่งว่าการจะไปค้นว่าตอนใดลอกเรื่องใดนั้นเสียเวลา เอากันง่าย ๆ ว่าตราบใดท่านยังไม่พบหนังสืออ่านเล่มภาษาไทยเรื่องใดมี ๑,๖๐๐,๐๐๐ คำ หรือ ๓๗๕ ยก ซึ่งเท่ากับ ๖,๐๐๐ หน้าแล้ว ตราบนั้น ท่านย่อมกล่าวทับถมได้เต็มปาก ว่ายังไม่มีหนังสืออ่านเล่นเรื่องใดในภาษาไทยที่จะใช้วิธีลอกเขามาฉกาจฉกรรจ์เท่าเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าให้ความสว่างไว้แล้ว ในทางที่ท่านผู้ใดจะไม่ต้องสละเวลามาวิจารณ์การประพันธ์เรื่องนี้ของข้าพเจ้าอีก
กล่าวถึงชีวิตส่วนตัว ซึ่งอาจถูกพิจารณาโยงเข้าไปกับ "วัตถุ" ของข้าพเจ้าบ้าง เพราะฉะนั้นขอให้ความสว่างไว้สำหรับเป็นทางที่จะได้ไม่ลำบากแก่ท่านผู้ใดในอันจะเอาเวลามาสนใจเรื่องราวของข้าพเจ้า ขณะเมื่อไม่อาจสอบจากข้าพเจ้าเองโดยตรงได้ ข้าพเจ้าจะให้ชีวิตของข้าพเจ้าไว้เท่าที่หนังสือเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่
ข้าพเจ้าเขียนข้อความชิ้นนี้ ขณะมีอายุ ๓๒ ปี วันข้างหน้ายาวสั้นหรือดีร้ายอย่างไร ล้วนเป็นที่ทราบไม่ได้ จึงถ้าชีวิตของข้าพเจ้าจบดี นั่นก็เป็นธรรมดาสามัญของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งไม่ต้องการคำอธิบายและเป็นอาหารของความอยากรู้ แต่ถ้าจบร้ายท่านก็จะรู้ความจริงแต่ในข้อที่ว่าจบร้าย ท่านจะไม่รู้คว่ามจริงที่จริงไปกว่านั้น
อะไรที่ข้าพเจ้าเรียกว่าเป็นความจริงที่จริงไปกว่า ถ้าชีวิจของข้าพเจ้าจบลงในทางร้ายนั้น ก็คือ มีคำทำนายบั้นปลายชีวิตของข้าพเจ้าอยู่สองประการ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้นทางใดทางหนึ่ง ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าการมีชีวิตจบลงเช่นนั้น อาจถูกพิจารณาโยงเข้ามาเปื้อน ผู้ชนะสิบทิศ วัตถุอันข้าพเจ้าสร้างไว้เป็นเครื่องกวนตาให้ท่านอาจระลึกถึง
ประการแรก เป็นเหตุผลแสนลี้ลับสำหรับข้าพเจ้า ค่าที่เป็นเหตุผลของนักพยากรณ์ลายมือโดยเผอิญเป็นครั้งแรกและต้องเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตด้วย เพราะข้าพเจ้าเกลียดเหตุผลในศาสตร์อันลี้ลับอย่างยิ่งอยู่แล้ว ข้าพเจ้าถูกทำนายด้วยถ้อยคำอันไพเราะว่า เส้นความคิดของข้าพเจ้าดีมาก มากจนสงสัยว่าจะเป็นบ้าในบั้นปลายของชีวิต ประการหลัง เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าเองก็รู้ และอยู่ข้างจะเห็นจริง คือคำทำนายของผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมว่า ข้าพเจ้าต้องตายอย่างนักประพันธ์ไส้แห้ง ท่านพวกนี้ทำนายจากหนี้สินทั้งหลาย ซึ่งรุมล้อมอยู่รอบตัวข้าพเจ้า
ถ้าชีวิตข้าพเจ้าจบลงอย่างใดในสองลักษณะ หรือพร้อมทั้งสองอย่างก็ตาม ท่านจะรู้ความจริงเพียงว่า ชีวิตข้าพเจ้าลงเอยด้วยประการนั้น ๆ แต่ท่านไม่รู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เสียใจต่อการลงเอยเช่นว่านี้เลย นี่แหละคือที่ข้าพเจ้าเรียกว่าความจริงที่จริงไปกว่า และว่า ว่าท่านไม่รู้
ความตายของคนเรานี้หนอ แม้จะด้วยท่าทีอาการหมดจดงดงามที่สุด ก็เป็นของน่ากลัวกันอยู่ทุกตัวมนุษย์แล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่ว่าจะดับสูญด้วยคำคาดหมายทำนายของฝ่ายใด จะต้องเพิ่มความน่าเกลียดลงไปอีกเล่า แต่มีอะไรน่าชื่นใจข้าพเจ้าอยู่อยู่ในความน่ากลัวและน่าเกลียดนี้หรือ ข้าพเจ้าจึงไม่เสียใจ ขอตอบว่ามี แม้วันสุดท้ายจะลงเอยดั่งนี้ข้าพเจ้าก็ยังมีความชื่นใจให้แก่ตัวของตัวเองมากมายนัก
เพียงแต่ท่านรู้ตัวจริงของข้าพเจ้า ว่าเสมอคนอย่างข้าพเจ้าเท่านี้ แล้วก็เขียนหนังสือขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งในสมัยหนึ่งสะกดผู้อ่านให้มีใจจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือของข้าพเจ้า ทั้งนี้ อย่างน้อยก็จำนวนเป็นพัน ๆ คน ท่านก็น่าจะเห็นว่าข้าพเจ้าควรจะเป็นบ้า เพราะอิ่มใจในความเมตตาของมหาชนคนอ่านเสียในขณะนี้แล้ว นี่เจ้าความเป็นบ้าไปรออยู่ถึงบั้นปลายชีวิต ยังเหลือเวลาดี ๆ ไว้ ซึ่งขอสะกดท่านผู้อ่านด้วยเรื่องอะไรตฃ่อมิอะไรได้อีกสักสองสามเรื่องเถิด แล้วบั้นปลายชีวิตของข้าพเจ้าจะบ้าตายหรือให้ล่วงรู้ไปถึงว่า บ้าตายแล้วจะต้องไปเกิดเป็นไส้เดือนอีก ข้าพเจ้าก็ยังไม่อาจหยุดยั้งความชื่นใจ คำทำนายจากเส้นลายมือยังไม่ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจ
ส่วนคำทำนายข้อหลัง สงสัย ทำไมหนอเจ้าโรคลำไส้นี้จึงต้องมาใช้ห้อยท้ายอาชีพของนักประพันธ์เป็นประจำ ทั้งที่ในเมืองไทยนี้ผู้ที่ยึดการประพันธ์เป็นอาชีพแท้ ๆ ก็มีตัวตนให้เห็นความรุ่งเรืองอยู่หลายท่าน แต่เจ้าโรคนี้ก็ไม่หมดไปจากคำกล่าวว่าเป็นโรคประจำพวกนักประพันธ์เลย อันที่จริงความไส้แห้งก็ย่อมมีแก่ทุกอาชีพ ข้าพเจ้าอาจตายอย่างคนไส้แห้ง แต่ข้าพเจ้ามีความชื่นใจที่จะได้ยืนยันไว้ในหนังสือนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ตายอย่างนักประพันธ์ไส้แห้ง ตายอย่างคนธรรมดาคนหน่งที่ไส้แห้งตายเท่านั้นเอง
เป็นความสัตย์จริงแท้ ไม่ใช่ผลได้จากงานการประพันธ์ทั้งหมด หรือผลในการอื่นที่เกี่ยวเนื่องมาจากความเป็นเจ้าของเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เฉพาะผลโดยตรง นับแต่ได้จดอักขระเป็นเรื่องผู้ชนะสิบทิศแรกลงในหนังสือพิมพ์รายวัน จนถึงที่พิมพ์จำหน่ายเพียงแค่จบในภาคนี้ ถ้าจะเป็นการโอ่อวด ก็จำเป็นที่ต้องขอโอ่อวดเพื่อให้ความจริงแก่อาชีพนักประพันธ์ว่า ข้าพเจ้าได้เงินไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท จากเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เฉพาะที่เป็นผลโดยตรง การเป็นนักประพันธ์ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าหรือผู้ยึดถืออาชีพทางนี้ไส้แห้ง แต่ข้าพเจ้าจะได้ตายอย่างคนไส้แห้งก็เพราะในขณะมีชีวิต ข้าพเจ้ามีแต่ความเป็นนักประพันธ์อย่างเดียว ข้ะเจ้ามีความชื่นใจที่ได้กล่าวความจริงที่สุดของอาชีพทางการประพันธ์นี้ไว้ ดังนี้คำทำนายจากหนี้สินที่รุมล้อมข้าพเจ้าว่าจะตายอย่างนักประพันธ์ไส้แห้ง ก็ยังไม่ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจอีก การมีชีวิตอย่างเกิดมาชาติหนึ่งไม่ต้องคำนึงถึงอาตมา เป็นความสว่างในทางที่ท่านผู้ใดจะไม่ต้องสนใจในตังของเจ้าของเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เมื่อคนผู้นี้ไม่มีตัวตนแล้ว
เมื่อการเขียนข้อความ ทั้งนี้ ทำให้ต้องระลึกถึงผลได้ที่ผู้ชนะสิบทิศให้แก่ข้าพเจ้าก็ทำให้ต้องระลึกไปถึงผู้มีบุญคุณต่าง ๆ กันในการนี้ด้วย ข้าพเจ้าระลึกถึล "ศรีบูรพา" เป็นคนแรกที่ช่วยหนุนน้ำใจปั้นปลุกให้ข้าพเจ้าเขียนหนังสือ แล้วยังช่วยให้ได้เงิน ๓๕ บาทต่อเดือน อันเป็นเงินจำนวนประเดิมเรื่องแรกของการเขียนผู้ชนะสิบทิศนี้ ข้าพเจ้าระลึกถึง "แม่อนงค์) นอกจากเป็นผู้ปั้นปลุกน้ำใจยังในฐานช่างคิดชื่อผู้ชนะสิบทิศ อันเป็นมงคลทำมาค้าขึ้นให้แก่ข้าพเจ้า แลระลึกถึง ขุนสงัด โรคกิติ เพราะท่านผู้นี้ทีเดียวได้สอนให้รู้ถึงความที่มหาชนต้องการเรื่องของข้าพเจ้า โดยกล้าพิมพ์ยอดขุนพลออกขายเป็นครั้งแรกในบรรดาหนังสือของข้าพเจ้า
ทั้งสามท่าน เหมือนทำให้ผู้ชนะสิบทิศเป็นเรือที่สมบูรณ์โดยรูป แต่ยังไม่สมบูรณ์ในอันจะเกิดประโยชน์เป็นเรือโดยแท้ จนกว่าจะได้พบหยดน้ำแต่ละหยดที่ คือท่านพวกประชาชนคนอ่าน มือที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักหน้าค่าชื่อมากมายแต่ละมือนี้เอง ที่ได้ให้ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า จนกระทั่งออกชวนให้ผู้ที่ไม่รู้ราคาของการประพันธ์สำคัญราวกับว่าข้าพเจ้ามีความสำราญ เพราะมีมือลับ ๆ คอยส่งเงินบำรุงข้าพเจ้าในทางไม่สุจริต ข้าพเจ้าขอระลึกถึงคุณผู้อ่านหนังสือของข้าพเจ้าเป็นประการที่สุด
"ยาขอบ"
๕ กันยายน ๒๔๘๒